19 February 2013

นักกำหนดอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารบำบัดโรค

นักกำหนดอาหาร หรือ Dietitian เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทางด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารบำบัดโรคที่เรียกว่า โภชนบำบัด ในโรงพยาบาลต่างๆ จะมีนักกำหนดอาหารประจำอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สมาพันธ์นักกำหนดอาหารนานาชาติ (International Confederation of Dietetic Associations) ได้กำหนดนิยามของนักกำหนดอาหารไว้ ดังนี้

A dietitian is a person with a qualification in nutrition and dietetics, recognised by national authority(s). The dietitian applies the science of nutrition to the feeding and education of individuals or groups in health and disease

ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า

นักกำหนดอาหารคือวิชาชีพที่ผ่านการศึกษาหลักสูตร โภชนาการและการกำหนดอาหาร โดยนักกำหนดอาหารมีหน้าที่นำความรู้ทางโภชนศาสตร์เพื่อใช้ในการกำหนด และให้อาหารผู้ป่วยเป็นรายบุคคล

นักกำหนดอาหารจะเป็นผู้กำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารต่างๆ ที่เหมาะสมกับโรคและภาวะที่เป็นอยู่ของผู้ป่วย ตลอดจนกำหนดอาหารที่เหมาะสมกับบุคคลทั่วไปเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ให้ความรู้ และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วย บุคคลทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกัน และบำบัดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ

ในต่างประเทศนักกำหนดอาหารจะทำงานที่หลากหลายมากกว่า เช่น
  •     งานดูแลผู้ป่วยเรื้อรังประจำบ้าน (Nursing home)
  •     โรงเรียนฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย (Rehabilitation)
  •     โภชนาการเพื่อการกีฬา (Sport nutrition)
  •     ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ
  •     สายการบิน
  •     นักเขียนบทความด้านโภชนาการ และ
  •     อาจารย์ในมหาวิทยาลัย
การเรียนเพื่อเป็นนักกำหนดอาหารจะต้องมีพื้นฐานความรู้ทางด้าน ชีววิทยา (Biology) ชีวเคมี (Biochemistry) จุลชีววิทยา (Microbiology) เคมี (Chemistry) สรีรวิทยา (Physiology) พยาธิวิทยา (Pathophysiology) กายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) โภชนาการ (Nutrition) โภชนาการคลินิก (Clinical nutrition) การบริหารและจัดการอาหาร (Food service) วิทยาศาสตร์ทางอาหาร (Food science) เป็นหลัก ตลอดจน Economics, Business, Culinary arts เพื่อเสริมความสามารถในการประยุกต์ให้เข้ากับสายงาน

ดังนั้นจึงสามารถแบ่งนักกำหนดอาหารตามความเชี่ยวชาญออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ สายการบริหารและจัดการอาหาร (Food service dietitian) ซึ่งควบคุมการผลิตอาหาร และสายโภชนบำบัด (Clinical dietitian) ซึ่งทำงานดูแลผู้ป่วย ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ นักกำหนดอาหารทั้ง 2 สายงานจะทำงานร่วมกันในฝ่ายโภชนาการอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วย ร่วมกับทีมบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ

ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบของระบบการขึ้นทะเบียนวิชาชีพนักกำหนดอาหารนั้นมี “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา (American dietetic association)” เป็นผู้ควบคุมคุณภาพหลักสูตรการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และต้องผ่านการฝึกงานตามที่สมาคมฯ ได้ประกาศไว้ เพื่อใช้ในการสอบใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ในการใช้คำย่อ RD ต่อท้ายชื่อ ซึ่งมาจากคำว่า Registered dietitian ในประเทศไทยมีนักกำหนดอาหารที่ขึ้นทะเบียนวิชาชีพจากสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่ถึง 10 คนส่วนใหญ่ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในหลักสูตร “โภชนบำบัดและการกำหนดอาหาร” เป็นหลัก ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายสถาบัน ที่มีหลักสูตร "โภชนาการและการกำหนดอาหาร" เพื่อการผลิตนักกำหนดอาหารโดยตรง โดยเฉพาะในทาง Clinical dietitian เช่น
  • คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะสาธารณะสุข มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
และนักกำหนดอาหารในประเทศไทย จะต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพโดย “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย” โดยจะได้รับคำว่า กอ.ช หรือ CDT ต่อท้ายซึ่งย่อมาจาก “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” หรือ “Certified dietitian of Thailand” ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี

เอกสารอ้างอิง
  • The International Confederation of Dietetic Associations - ICDA International Definition of Dietitian 
  • นักกำหนดอาหาร คือใคร โดย ศัลยา คงสมบูรณ์เวช RD. ตีพิมพ์ในนิตรสารสกุลไทย ฉบับที่ 2575 คอลัมน์ ให้ความรู้คู่การรักษา ควบคุมโดย ศ.นพ เทพ หิมะทองคำ
  • หนังสือรายงานการประชุมวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารประจำปี 2551
  • ประกาศสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย เรื่องการสอบขึ้นทะเบียนวิชาชีพปี พ.ศ. 2554

No comments:

Post a Comment