07 March 2013

ข้อเท็จจริงเรื่อง "มะเฟืองกับไตวาย"

คุณผู้อ่านหลายคนอาจเคยได้รับ ฟอร์เวิร์ดเมลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ มากมาย (โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโกหกแบบ จับแพะชนแกะ อาศัยความไม่รู้ หรือคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ให้ดูน่าเชื่อถือ) อาจเคยได้รับบทความเกี่ยวกับ “มะเฟืองทำให้ไตวาย” รวมอยู่ด้วย ซึ่งผมเองก็สงสัยจึงค้นหาข้อมูลในฐานข้อมูลต่างๆ พบว่า เรื่องนี้มีมูล โดยมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์กันเป็นเรื่องเป็นราว และมีเคสตัวอย่างมากจำนวนหนึ่ง เห็นแล้วก็สนใจจึงได้เก็บข้อมูลมาเขียนเอาไว้ (นานมากแล้ว เกือบ 1 ปีเต็ม)

บทความนี้ได้ใช้ข้อมูลจาก Pubmed โดยค้นหาโดยใช้คำว่า Starfruit และ kidney ได้ผลการค้นหาจำนวน 16 รายการ ณ วันที่ 11 กันยายน 2554

ทำความรู้จักกับมะเฟืองกันก่อน



ภาพจาก Wikipedia

มะเฟืองนั้น เป็นผลไม้ที่นิยมกินในแถบร้อนชื้นเป็นหลัก โดยตัวผลนั้นมีสีเขียวจนไปทางเหลืองรูปร่างเหมือนดาว คล้ายๆ กระสวยอวกาศ ตัวมะเฟืองนั้นมีสารอาหารหลักดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม [USDA Standard Reference for Nutritive Value of food]

พลังงาน 30 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 6.8 กรัม
- น้ำตาล  4 กรัม
- เส้นใย  2.8 กรัม

ไขมัน 0.33 กรัม
โปรตีน     1.04 กรัม
วิตามินซี  34.4 มก
ฟอสฟอรัส  12 มก
โพแทสเซียม  133 มก

จะเห็นว่าโดยธรรมชาติของมะเฟืองนั้นให้น้ำตาลค่อนข้างน้อย แต่กลับมีโพแทสเซียมสูงทีเดียว ถ้าลองคิดกลับมาที่ 1 ส่วน (220 กรัม) จะพบว่าให้โพแทสเซียมสูงถึง 290 มก โดยตามธรรมชาติ มะเฟืองจึงดูไม่เป็นมิตรกับผู้ป่วยโรคไต หรือผู้มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง

กลับมาดูในส่วนของมะเฟืองกับไตเสื่อมกันต่อ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ พบว่ามีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากที่ไตจะทำงานแย่ลงเมื่อกินมะเฟือง โดยมีอาการตั้งแต่ ค่าการทำงานของไตลดลง ไปจนกระทั่งเกิดภาวะแอมโมเนียคลั่งจนสมองทำงานผิดปรกติ (Hepatic encephalopathy) ซึ่งจะเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคไตเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว การเกิดพิษของมะเฟืองนั้นคาดว่าเกิดจาก ออกซาเลตในผลมะเฟือง (เนื่องจากไม่มีปริมาณของออกซาเลตในฐานข้อมูลของ USDA จึงระบุชัดเจนไม่ได้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่)

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ถึงกระบวนการเกิดความเป็นพิษต่อไต (Mechanism) ของมะเฟืองไว้ว่า เกิดได้ 2 วิธี คือ

1.  การเกิดผลึกแคลเซียมออกซาเลตไปอุดตันภายในท่อไตและ
2.  การกระตุ้นให้เซลล์ของหน่วยไตตาย (Apoptosis)

ซึ่งคาดว่าเกิดจากปริมาณของออกซาเลตเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะไม่ส่งผลกับผู้ที่ไม่มีปัญหาโรคไตแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องห้ามกินในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง

ข้อสรุปในเรื่องนี้คือ

1. คนปรกติสามารถกินมะเฟืองได้ตามปรกติ รวมไปถึงคนที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง ก็ควรจะต้องกินเป็นประจำ เนื่องจากให้พลังงานต่ำ แต่ให้โพแทสเซียมสูง สามารถช่วยลดความดันได้ดี

2. ควรงดเว้นมะเฟืองในผู้ป่วยโรคไต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม CKD, ESRD หรือ AR ก็ตามเนื่องจากปริมาณโพแทสเซียมและออกซาเลตที่สูงมากเช่นกัน

มีงานวิจัยที่อ้างถึง

Mechanisms of star fruit-induced acute renal failure - http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18294746

2 comments:

  1. จริง ผมยืนยัน ต้นเดียวกัน กินวันเดียวกัน ตาย ๒ พึงไปเผามาเมื่อกี้นี้ครับ อีกศพ อีกหมู่บ้านหนึ่ง เผาวันเดียวกันเลยไม่ได้ไป แต่มะเฟืองต้นเดียวกันเหมือนมัจจุราชส่งมาให้เขากิน โรคไตทั้งสองคน อนิจจา

    ReplyDelete
  2. member pg slot game vip เว็บไซต์ตรงจากบริษัทแม่ไม่ผ่านผู้ใดกันแน่ลงทะเบียน PG SLOT ได้แล้ววันนี้มีปริมาณสมาชิกผู้เล่นใหม่จำนวนหลายชิ้นเลือกที่จะใช้บริการเกมกับทางเว็บของพวกเรา

    ReplyDelete